วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Journey City ตอน : Backpacking @พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

สวัสดีชาวBlogger และ social network ทุกคนคะ วันนี้เราจะพาทุกคนมาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวกรุง(ในอดีต ซักราวๆ50-70ปีได้) สถานที่ที่เราจะไปในวันนี้คือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก กันคะ ^^
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 273 ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก แต่เดิมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก โดยอาจารย์วราพร สุรัสวดี ได้รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่เก่าแก่ที่มีตั้งแต่ครอบครัวของอาจารย์จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่ออนุรักษ์สิ่งของที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อุทิศเพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์ เมื่อโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรักเกิดขึ้น จึงได้รวบรวมไว้ให้อยู่ในสถานที่เดียวกัน ปัจจุบันอาจารย์วราพรมอบพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกให้อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นจึงสามารถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่ทรงคุณค่าถึง 2แห่งได้ในคราวเดียวกัน...

โดยเราเดินทางจากที่พักของเราไปขึ้นรถเมล์สาย 16 เพื่อที่จะไปพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก นั่งต่อเดียว ไม่ต้องเปลี่ยนสายรถเมล์ให้รอเมื่อยและเหนื่อยมากอีกด้วย...

      
ณ ป้ายรถเมล์บางกระบือ สายรถเมล์เยอะจริง วันนี้จะขึ้นสาย16 รอแอบนานนิดนึง --*
สำหรับการมาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก นี้ เป็นการเดินทางที่ใช้การV. to เดา(ทาง) ล้วนๆ เพราะเราเองไม่เคยมาแถวเจริญกรุงเลย ตอนแรกนึกว่าจะนั่งเลยป้ายที่จะลง เห็นป้ายริมถนนบอกทางไปพิพิธภัณฑ์ก็เลยลงรถเมล์ ที่ไหนได้... ลงถูกป้ายเป๊ะๆ คือป้ายไปรษณีย์กลาง จะตรงกันข้ามกับซอยเจริญกรุง 41 คือให้ข้ามถนนแล้วเดินย้อนมานิดนึงก็จะเจอซอยเจริญกรุง 43 เดินเข้ามาเรื่อยๆ ก็จะเจอพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก หรือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก ตามในรูปเลยคะ


เมื่อเข้ามาภายในรั้วของพิพิธภัณฑ์ อันดับแรก จะเจอพี่รปภ. (หรือลุงยามนั่นเอง) เขาจะให้เขียนชื่อลงในสมุดเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ การเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ไม่เสียค่าเข้าชมใดๆทั้งสิ้น เมื่อเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว เหมือนเราเข้ามาบ้านญาติผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งของเราเลยก็ว่าได้ หรือเหมือนกับได้มาบ้านในละครเรื่องใดเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้ (ความรู้สึกบอกมา :p)

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีอาคารจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ และนิทรรศการ ทั้งหมด 3 หลัง ซึ่งแต่ละหลังมีรูปทรงที่บ่งบอกยุคสมัยอย่างชัดเจน เมื่อเข้ามาแล้วก็จะเจอกับบ้านหลังแรก ซึ่งมีความร่มรื่นจากต้นไม้ และไม่รู้สึกร้อน กลับเหมือนรู้สึกมีลมเย็นๆ และมีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งต่างจากหน้าปากซอยที่มีรถเยอะ



ตำราเรียนที่ใช้วิชาภาษาจีน(ซ้ายมือ), หนังสือจินดามณี ฉบับหมอบรัดเล (ขวามือ)

เมื่อเดินเข้ามาภายในบ้าน ชั้นล่างจะประกอบด้วย ห้องแรกคือ ห้องนอนคุณยายเล็ก ห้องเก็บหนังสือนายแพทย์ฟรานซิส แต่เดิมห้องนี้เป็นห้องนอนของคุณยายเล็ก(นางสมบุญ เตวิทย์) น้องสาวของคุณยายซึ่งมาอาศัยอยู่ด้วย และใช้ห้องนี้เป็นห้องเก็บหนังสือของนายแพทย์ฟรานซิส เมื่อคุณยายเล็กเสียชีวิต น้าลี (นางสาว มาลี เหมือนทองจีน) ซึ่งเป็นญาติผู้น้องของคุณแม่ของอาจารย์วราพร ซึ่งเดิมนอนอยู่โถงหน้าห้องได้ย้ายเข้ามาอยู่ห้องนี้แทน และในปัจจุบันได้กลายเป็นห้องเก็บหนังสือของนายแพทย์ฟรานซิส คริสเตียน
ภายในตู้นี้ จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับการแพทย์เป็นส่วนมาก เดิมจะบริจาคหนังสือให้โรงพยาบาลแต่เพื่อนๆของคุณแม่อ.วราพรไม่อยากให้บริจาค คุณแม่ของอ.วราพรจึงเอาหนังสือเก็บไว้ในตู้ไว้อย่างเดิม และปรารภว่าหากลูกคนไหนเรียนหมอให้ใช้ตำราเหล่านี้



และห้องที่อยู่กับห้องนอนของคุณยายเล็ก คือห้องสุขา ในห้องนี้มีโถส้วม ออกแนวโบราณๆหน่อย โถทำจากสังกะสีเคลือบชนิดเททิ้ง มีฝาเปิด-ปิดด้วยสายยูทองเหลือง ตัวโถตั้งอยู่บนขาตั้งเหล็กทาสีนิดหน่อย

ห้องต่อมา คือห้องโถง จะมีตู้มุก เป็นตู้เก็บของของคุณยาย มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ ปัจจุบันไม่มีให้เราเห็นเหมือนกับอย่างในสมัยนั้นแล้ว และมีสวิตช์ไฟ ที่เราเองก็ไม่เคยเห็นมาก่อน คือมันเก่ามากจริงๆ

สวิตช์ไฟ(รูปซ้ายมือล่าง)
ห้องถัดมา เป็นห้องรับประทานอาหาร ห้องนี้เกิดจากการต่อเติมบ้านชั้นบนเพิ่ม เพื่อให้อาจารย์วนิดา สุรัสวดี (พี่สาวของอาจารย์วราพร) ห้องนี้นอกจากจะเป็นห้องรับประทานอาหารแล้ว ยังเป็นห้องดูทีวีของเด็กๆอีกด้วย 

และห้องสุดท้ายของชั้นล่างนี้คือ ห้องรับแขก เป็นห้องที่จัดเตรียมไว้สำหรับแขกในโอกาสต่างๆ และยังเป็นห้องเล่นเปียโนของคุณแม่อาจารย์วราพรอีกด้วย โดยคุณแม่ของอาจารย์ให้ลูกๆมาร่วมกันร้องเพลงอย่างสนุกสนาน และภายในห้องนี้ยังมีขวด และแก้วเจียระไนแบบยุโรปซึ่งเป็นของนายแพทย์ฟรานซิสอีกด้วย


 และส่วนระเบียงหน้าบ้าน มีความร่มรื่น และอุดมไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ต้นใหญ่ในบริเวณหน้าบ้าน ยิ่งทำให้มีความร่มรื่นมากขึ้น
พอขึ้นมาชั้น2ของบ้าน จะเป็นห้องนอนของคุณยาย ประกอบด้วยเตียงไม้โบราณแบบฝรั่งมีเสามุ้ง โต๊ะเครื่องแป้งสำหรับใส่เครื่องสำอาง และขวดน้ำหอมแบบต่างๆ ซึ่งอายุอยู่ในช่วงรัตนโกสินทร์ สมัยร.5 มีตู้เซฟโบราณ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปบูชาสมัยอยุธยาตอนปลาย พระพุทธรูปบุเงินและบุทองสมัยรัตนโกสินทร์


ห้องถัดมาคือ ห้องนอนใหญ่ เป็นห้องนอนของอาจารย์วนิดา สุรัสวดี (พี่สาวอาจารย์วราพร) เป็นห้องที่คุณแม่ของอาจารย์วราพรต่อเติมขึ้นมาใหม่ เพื่อเตรียมให้พี่สาวของอาจารย์วราพร ซึ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาโทจากประเทศสหรัฐอเมริกา ภายในห้องประกอบด้วย เตียงนอนพร้อมโต๊ะข้างเตียง ซึ่งเป็นที่นิยมมากในช่วงพ.ศ.2480-2500 และตู้เสื้อผ้าบานประตูโค้งแบบยุโรปร่วมสมัยกับโต๊ะเครื่องแป้ง มีกระจกรูปไข่ สามารถมองได้รอบตัว และห้องน้ำ

ห้องน้ำ ประกอบด้วย โถส้วม อ่างน้ำ ฝักบัวอาบน้ำแบบติดผนัง
โต๊ะสุขภัณฑ์ ทำจากไม้สัก พื้นโต๊ะเป็นแผ่นหินอ่อนต่อชั้นวางของหนึ่งชั้น  ข้างโต๊ะมีที่แขวนผ้าเช็ดมือ  ด้านหน้ามีลิ้นชัก  ด้านล่างเป็นตู้ใส่ของ ภายในแบ่งออกเป็น2ข้าง ซ้าย-ขวา ไว้วางสิ่งของ

โต๊ะเครื่องแป้ง 8ขา ทำจากไม้สักล้วน มีบานกระจกตรงกลาง  และกระจกด้านข้างเป็นบานพับ  สามารถพับได้ทั้งซ้ายและขวา  ด้านล่างมีลิ้นชัก และตรงกลางบุนวมเป็นที่นั่ง

และห้องที่อยู่ด้านหน้า ของชั้น2 คือห้องบรรพบุรุษ ห้องนี้เป็นห้องที่เอาไว้กราบไหว้บูชา และใช้ประกอบพิธีเซ่นไหว้ตามเทศกาลสำคัญๆ ปัจจุบันภายในห้องนี้นอกจากใช้เป็นที่ตั้งอัฐิของบรรพบุรุษแล้ว ยังใช้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ซึ่งเคยเป็นของรักของหวงของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย 


เมื่อเราได้สำรวจ และศึกษาสิ่งของภายในบ้านหลังแรกนี้เรียบร้อยแล้ว จึงเดินไปบ้านหลังที่2 ในบ้านหลังที่2นี้จะเป็นบ้านของนายแพทย์ฟรานซิส คริสเตียน ซึ่งมีการตกแต่งสไตล์ยุโรป อุปกรณ์การรับประทานอาหาร จะเป็นช้อน ส้อม มีดสำหรับหั่นสเต็ก และมีเชิงเทียน ภายในบ้านยังมีอุปกรณ์การแพทย์เก็บไว้ในตู้ อุปกรณ์การแพทย์ที่เห็นมีความสะอาดมาก ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมานานซักแค่ไหนก็ตาม และภายในห้องนอน จะมีเตียงไม้โบราณแบบฝรั่งมีเสามุ้ง และด้านหน้าเตียงจะเป็นโต๊ะทำงาน ตู้เสื้อผ้า ของนายแพทย์ฟรานซิส
บริเวณชั้นล่างของบ้านหลังที่2
ภายในตู้โชว์จะมีช้อน-ส้อม มีด จาน และเชิงเทียน(เหมาะกับการดินเนอร์มากๆ)
บริเวณห้องน้ำ และระเบียงข้างห้องน้ำ
ภายในห้องน้ำ
ระหว่างทางขึ้นบันได ก็จะเห็นโคมไฟที่ดูเรียบๆแต่มีความคลาสสิกอยู่ในตัว, ไม้เล่นฮอกกี้, นาฬิกาและเข็มทิศที่ใช้ในสมัยนั้น รวมไปถึงแว่นตา(ภาพทางด้านซ้ายมือล่างสุด)
รูปปั้นของนายแพทย์ฟรานซิส ปั้นโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี, ตู้เก็บอุปกรณ์การแพทย์ของนายแพทย์ฟรานซิส
ภายในห้องนอนของนายแพทย์ฟรานซิสมีการตกแต่งแบบเรียบง่าย ดูโล่งสบายตา  มีโต๊ะทำงานสำหรับการทำงานในยามว่าง
ถ่ายเราเองซักหน่อย ^^ ไปชมบ้านหลังแรกมัวแต่ตะลึงกับสวิตช์ไฟโบราณ และของต่างๆในบ้านหลังแรกจนลืมถ่าย

และบ้านหลังสุดท้าย มีการสร้างในรูปแบบที่มีความทันสมัยมากกว่า2หลังก่อนหน้านี้ ชั้นล่างจะเป็นส่วนที่แสดงอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ภายในห้องครัว ในยุคนั้นมีการใช้ไปรษณีย์โทรเลข ไปรษณียบัตร โทรศัพท์บ้าน อุปกรณ์การเย็บผ้า และในส่วนของชั้น2 จะเป็นห้องแสดงนิทรรศการความเป็นมา วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ สถานที่สำคัญ บุคคลสำคัญที่อาศัยอยู่ในย่านนี้มีอยู่มากมาย อาทิเช่น พระยาอนุมานราชธน, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ศาตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์, เจ้าพระยายมราช, จอมพลเจ้าพระยาสรุศักดิ์มนตรี เป็นต้น และเมื่อเดินชมนิทรรศการเสร็จแล้ว ด้านนอกที่จัดนิทรรศการมีห้องสมุดขนาดย่อมๆ ไว้ให้หนอนหนังสือทั้งหลายไปนั่งอ่านหนังสือ และทำกิจกรรมที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัด แต่ว่าช่วงที่เราไป ทางพิพิธภัณฑ์ไม่ได้จัดกิจกรรมอะไร เพียงให้ผู้ที่เข้ามาในพิพิธภัณฑ์ เข้าชมบ้านต่างๆ ศึกษาวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นโดยผ่านข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ลักษณะบ้านของแต่ละหลังที่มีรูปแบบที่ต่างกันออกไป...










ด้านบนขวามือของรูป เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการตักบาตร และอีก3รูปที่เหลือจะเป็นคล้ายๆเกี่ยวกับการบดยา
ก่อนขึ้นไปชั้น2 เจอตัวอักษรจีนโบราณ ที่จริงมีมากกว่านี้ แต่เอามาเท่าที่จะมีชื่อบอก เพราะรูปอื่นดูไม่ออกว่าเป็นสัตว์อะไร
ชั้น2 ส่วนที่จัดนิทรรศการความเป็นมาของผู้คนที่นี่ และชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในเขตนี้


กล่องไม้ขีดไฟหลายแบบ หลายขนาด

สุสานโรมันคาทอลิก(ซ้าย), สถานทูตโปรตุเกส(ขวาบน), ศุลกสถาน หรือ โรงภาษี(ขวากลาง),  โรงเรียนอัสสัมชันคอนแวนต์(ขวาล่าง)

จากการเดินชมนิทรรศการในชั้นนี้ เห็นว่าสถานที่แต่ละสถานที่ บุคคลที่มีชื่อเสียงที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ ประวัติความเป็นมาของชาวต่างชาติที่เข้ามา ล้วนมีความน่าสนใจ อิทธิพลจากตะวันตกที่มีผลต่อวิถีชีวิตของคนไทย รวมไปถึงสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในของบ้านหลังที่2และ3ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ รวมไปถึงสถานที่ต่างๆ


ก่อนออกจากพิพิธภัณฑ์ก็ชักภาพซักหลายๆภาพหน่อย ในพิพิธภัณฑ์ไม่มีใครเข้ามาเลยก็ว่าได้ เงียบ.. เงียบจริงๆ ไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ในนั้นเลยก็ว่าได้ ถ้าไม่นับเราและเจ้าหน้าที่ที่ดูแล (เจ้าหน้าที่อยู่ตรงป้อมประชาสัมพันธ์ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์) แต่อยากจะบอกว่าสิ่งของที่นำมาจัดแสดงทุกอย่างล้วนมีคุณค่าและที่มาของตัวมันเอง อย่างเช่น กล่องไม้ขีดไฟ แค่ลวดลายของกล่องก็ทำให้เห็นว่ามีความคิดสร้างสรรค์และแรงดึงดูดเพื่อให้คนสนใจโดยการออกแบบกล่องให้เป็นลวดลายต่างๆ ผู้หญิงในยุคนั้นก็เริ่มนิยมการฉีดน้ำหอมคล้ายชาวตะวันตก เริ่มมีการใช้ธนบัตร มีการติดต่อสื่อสารกันโดยมีโทรศัพท์บ้าน ไปรษณีย์โทรเลข เห็นสวิตช์ไฟที่โบราณมากๆ ครั้งแรกที่เห็นถึงกับงงว่าคืออะไร? ลองสำรวจไปรอบๆบ้านจึงเข้าใจว่า คือสวิตช์ไฟ และที่น่าอิจฉาของคนในยุคนั้นคือ การตกแต่งบ้านด้วยการปลูกต้นไม้ เพื่อให้เกิดความร่มรื่น อากาศบริสุทธิ์และเย็นสบาย เงียบสงบ ผิดกับจากตรงปากซอยที่มีแต่มลภาวะทางเสียง ควันรถจากท่อไอเสีย 
สิ่งที่อยากจะบอกเล่าก่อนออกไปพิพิธภัณฑ์ คือ อยากให้เพิ่มจำนวนวิทยากรที่จะมาอธิบายความสำคัญของบ้านแต่ละหลัง หรือว่าป้ายอธิบาย ป้ายแนะนำว่าควรเข้าชมบ้านหลังไหนก่อน-หลัง สิ่งที่ควรและไม่ควรกระทำเมื่อเ้ขาไปชม (บางอย่างที่พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เขาไม่มี) และเราเองก็เกือบจะโดนต่อว่า การถอดรองเท้าก่อนเข้าไปชมภายในบ้าน ส่วนตัวก็มองหาป้ายที่จะคอยบอก และผู้ที่อยู่แถวนั้นก็ประชุมงานกัน หันมาอีกทีก็เดินเข้ามาหาแล้ว ทำหน้าและเสียงเหมือนจะไม่พอใจด้วย ถ้าหากมีป้ายบอกก็จะไม่มีใครที่เข้ามาทำผิดหรอก เราเองก็จะจดจำแต่ประสบการณ์และความรู้ที่ได้ไปศึกษาพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้ก็พอใจแล้ว และที่สำคัญจะได้รู้จักสถานที่ในกรุงเทพเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งที่



ส่วนใครที่สนใจอยากจะเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกแห่งนี้ สามารถมาได้หลายทาง เช่น รถเมล์ เรือด่วนเจ้าพระยา แท็กซี่ พี่วิน(มอเตอร์ไซต์) ก็ได้คะ
รถเมล์สายที่ผ่าน : สาย 1, 16, 36, 75, 93 (บอกกระเป๋ารถเมล์ว่าลงป้าย "ไปรษณีย์กลาง") แล้วให้เดินย้อนกลับมานิดนึงก็จะเจอซ.เจริญกรุง 43 แล้วเดินตรงเข้ามาในซอยเรื่อยๆคะ
เรือด่วนเจ้าพระยา : ให้ลงท่า "สี่พระยา" แล้วเดินออกซอยมา แต่ทางนี้ไม่แนะนำสำหรับคนที่ไปพิพิธภัณฑ์เป็นครั้งแรก เพราะในซอยอยู่ลึกจากถนนใหญ่พอสมควร ส่วนตัวแล้วที่รู้เพราะเห็นรถเมล์เลี้ยวเข้าซอย และมีป้ายบอกทางไปท่าเรือก็เลยเดินเข้าซอยไปเรื่อยๆ

ปากซอยทางเข้าพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

 ปากซอยที่รถเมล์สาย 36, 93 เลี้ยวเข้าเพราะรถเมล์สุดสายตรงป้ายสี่พระยาพอดี





หากเราเองจะนำความรู้ที่ได้จากการไปเที่ยวครั้งนี้ นำไปสอนเด็กนักเรียน สามารถนำไปสอนได้ในทุกระดับชั้น โดยที่แต่ละชั้นก็จะมีการสอนที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นในแต่ละระดับ โดยที่จะยกตัวอย่างความรู้ที่จะนำไปใช้ในการสอนนี้ จะเกี่ยวข้องกับวิชาสังคมศึกษา ในระดับชั้นป.5 ซึ่งจะเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คิดว่านักเรียนสามารถเห็นของจริงโดยที่สามารถมาศึกษาได้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ไม่ต้องไปจินตนาการ ให้นักเรียนเห็นจากของจริง นักเรียนจะได้เข้าใจมากขึ้น

การไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ วัด สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า หรือที่อื่นๆ ล้วนให้ความรู้กับเรา ขึ้นอยู่กับว่าเราเองจะมองเห็นความรู้เหล่านั้น เข้าใจ และนำไปใช้กับตัวเราเองได้อย่างไร ประสบการณ์ที่ได้รับทั้งที่ดีและไม่ดีคอยสั่งและสอนเราอยู่เสมอ ท้ายที่สุดนี้หวังว่าเพื่อนทุกคนสนุกกับการBackpackingของเราในครั้งนี้... ^^

2 ความคิดเห็น:

  1. การไปครั้งนี้จะไม่สำเร็จได้หากไม่มี
    1.หนังสือน่องโป่ง สำนักพิมพ์Pbm Publications
    2.184 (ไม่รู้สายรถเมล์ โทร184 ช่วยคุณได้ จริงๆนะ)
    3.ความตั้งใจของตัวเอง

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ1 กันยายน 2555 เวลา 17:34

    ดูวันนี้ดีกว่าวันนั้น

    ตอบลบ