วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

COLLUME RELATIONCHIC By: VOLUME UP ISSUE NO.7/12 MARCH 2012 ปักษ์แรก มีนาคม 2555 :: สังคม


 “ด่าซะปลิ้นเลย!” ประโยคเปิดของสีเกดในเช้าวันหนึ่ง
            “คราย ด่าใครตั้งแต่เช้า” 
            สีเกดเดินหน้ามุ่ยก่นบ่นใครสักคน ปกติฉันไม่ค่อยเห็นนางอารมณ์เสียสักเท่าไหร่ ในกลุ่มอารมณ์ปรี๊ดปร๊าดที่สุดน่าจะเป็นฉัน ไม่ใช่จิตเภทแต่เพราะใกล้วัยทอง นี่ขนาดไม่มีลูกกวนตัวไม่มีผัวกวนตี-นแล้วก็ยังไม่วาย คนอย่างฉันจะอารมณ์เสียเรื่องอะไรได้นอกจากเรื่อง “เงิน!” (นังนุชนาฎมันคงคิดในใจแบบนี้)
            “อีแพรน่ะสิพี่ วันเสาร์-อาทิตย์นี้ พ่อกับแม่ไม่อยู่บ้าน ไปทำบุญต่างจังหวัด มันจะให้หนูมานอนค้างที่บ้านเป็นเพื่อนมัน แต่แทนที่จะโทร.บอก หรือส่งแมสเสสมา มันเขียนในเฟซบุ๊ก พี่ดูมันทำ! หนูเลยโทร.ไปด่าว่า ‘ไม่ใช่’ พี่น้องกันแล้วใช่ไหมถึงได้บอกผ่านทางเฟซบุ๊กให้ชาวบ้านชาวช่องเขารู้กันทุกคน เดี๋ยวโจรก็ขึ้นบ้านหรอก...”
            ถ้ามีเครื่องตรวจจับความร้อนตอนนี้คงเป็นภาพควันออกหูสีเกดไปแล้ว แต่ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับฉันคงต้องวัดอุณหภูมิความร้อนเทียบกันเพราะระดับฉัน
            “ไปไฟไหม้ไปแล้ว!”
            “อั๋น...ไปลบภาพที่เอาไปลงเฟซบุ๊กออกให้หมดนะ บ้าไปแล้วรึไง รู้จักคำว่าส่วนตัวมั้ย ครอบครัวของเรามันเป็นส่วนตัวไม่เปิดเผยข้องเกี่ยวกับสาธารณะ นี่อะไร เอารูปทุกอย่าง ทั้งนก ทั้งหมา ทั้งป๊า ทั้งลูก ไปลงจนหมด ติ๊งต๊องไปแล้วมึงน่ะ!”
             ความจริงแล้วก็ไม่ใช่ความผิดอะไรของน้องชายฉัน แต่การที่เป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่เป็นน้องกันกับฉันก็ต้องการให้มันเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับใครหรืออะไร มันจึงมีเงื่อนไขในแบบที่ฉันต้องการให้เป็น ในที่สุดน้องชายของฉันจึงต้องลบทุกภาพออกไปแล้วอยู่อย่างโลว์โปรไฟล์ที่สุด
            ในความคิดของฉัน สังคมคืออีกโลกหนึ่งที่ต้องอยู่ให้เป็น ฉันไม่เคยเอาสังคมภายนอกเข้ามาปะปนกับครอบครัวฉัน ราวกับว่าเมื่อใดที่ฉันก้าวเท้าเข้าบ้าน ฉันได้ก้าวออกจากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่ง ฉันไม่รู้ว่าคนอื่นเขาเป็นกับแบบนี้บ้างหรือเปล่า แต่ชีวิตของเรามันต่างกัน...ต่างคนต่างวิถี
            ฉันไม่เล่นเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ซึ่งจะดูเป็นคนล้าสมัยในยุคดิจิตอลแบบนี้ แต่อะไรก็ตามที่มันทันสมัยมากหรือเกินไป บางทีมันอาจจะนำเราและควบคุมเรา แทนที่ ‘เรา’ จะควบคุมมันอยู่ฉันได้เห็นข้อดีของการใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กแบบถูก วิธีในการแบ่งปันข่าวสารความรู้ต่างๆ ให้กันและกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง (ทุกสิ่งบนโลกมี 2 ด้านเสมอ) ผู้คนมากมายก็ใช้มันไปในทางที่ไม่สร้างสรรค์ โดนเฉพาะเด็กๆ ที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร รู้แค่ว่าอยากรู้จักอะไรใหม่ๆ
            การอยากรู้จักมันคนละความหมายและคนละหนทางกัน เมื่อการ ‘เรียนรู้’ ใช้กับสิ่งที่เป็นสารประโยชน์ แต่ ‘การรู้จัก’ นั้นต้องไปคัดกรองแยกแยะเอาเองว่าดีหรือเลว ถูกหรือผิด ซึ่งในโลกอินเตอร์เน็ตอันกว้างใหญ่กว่าจักรวาลนี้คงไม่มี ใครมาคอยเตือนใครได้ทันท่วงทีกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เลยเถิดไปไหนแล้วก็ไม่รู้
            ประโยชน์จากการใช้สังคมในอินเตอร์เน็ตเป็นก็คือมันช่วยในการประชาสัมพันธ์ ดูจากคนดังๆ ที่มีทวิตเตอร์แล้วมีคนตามเรื่องราว เห็นได้ชัดว่ามันช่วยขยายผลของงาน ภาพลักษณ์ของคนไทยนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาไม่แล้ววงดนตรีหรือนักร้องหรือผู้มีความสามารถในด้านต่างๆ คงไม่สามารถแจ้งเกิดจากโลกอินเตอร์เน็ตนี้ได้
            คลิปของใครที่มีคนดูมาก คนคนนั้นก็จะเป็นที่สนใจจนกลายเป็นคนดังได้ หากมีคนเอาไปปั้นต่อ อย่างหนุ่มน้อย จัสติน บีเบอร์ สำหรับบ้านเราเห็นประโยชน์ชัดจากช่วงน้ำท่วม ในด้านการขอความร่วมมือร่วมใจช่วยคนไทยด้วยกัน แต่จะมีสักกี่ล้านคนบนโลกที่ใช้มันถูกวิธี ถูกที่ถูกทาง
            ทุกวันนี้สังคมอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ราวกับเป็นแฟชั่นที่ทำตามๆกัน ใช้เป็นเครื่องระบายความรู้สึก ด่าทอ โอ้อวด หรือแม้แต่แสดงความสำคัญของตัว รอให้ใครต่อใครที่ไม่รู้จักเราอย่างแม้จริงเข้ามาแสดงความคิดเห็นแล้วเรียกคนเหล่านั้นว่า ‘เพื่อน’
            หากเป็นเช่นนั้นแล้วความหมายของคำว่า ‘เพื่อน’ ได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้วอย่างสิ้นเชิง
            ฉันยังคงรักความล้าสมัยของการสื่อสารระหว่างผู้คนในแบบเดิมๆ ที่มีเพื่อนน้อย แต่เข้าใจกันมากอย่างลึกซึ้ง มิใช่ผิวเผินแต่มากมาย การนัดเจอกัน กินข้าวกัน คุยกัน ได้แสดงความรู้สึกออกมาทางสีหน้าและสายตา บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าต่างคนต่างไปทำอะไรมา แต่เมื่อไหร่ที่ได้พบกัน ความเข้าใจและความผูกพันยังคงแน่นแฟ้นและยั่งยืนต่อไปกว่า ‘แค่รู้ว่าทำอะไรแต่ไม่รู้ว่าคิดอะไร (จริงๆ)’
            วิถีชีวิตของฉันยังคงวนเวียนป้วนเปี้ยนอยู่แค่บนเวทีกับฟุตบาธข้างถนนที่ผู้คนเดินย่ำไปมา ฉันใช้เวลาว่างเดินเข้าออกตลาดสด อุดหนุนและทักทายแม่ค้า พูดคุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ที่เป็นชาวบ้าน แวะกินอาหารข้างถนนร้านประจำ เมาธ์แตกกับแม่ค้าในเรื่องที่อยู่ในกระแสบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือแม้แต่หวย ฉันรู้สึกว่านี่คือมิตรภาพที่สัมผัสได้จริง
            เราต่างอยู่บนเส้นทางทำมาหากินเลี้ยงตัวอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่โอ้อวดใคร และไม่ต้องการใครมาตัดสินเราด้วย คห.1 คห.2 บางครั้งเถียงกับไปหัวเราะกับไปตรงนั้น...ชาวบ้านร้ายตลาดเสียจริงเลย

            คน(หน้า) แปลกๆ แบบฉันที่มีหน้าที่การงานเป็นสาธารณะ ยิ่งคนรู้จักมากก็ยิ่งดี แต่โดยส่วนตัวแล้วฉันยังเก็บความเป็นส่วนตัวที่แท้จริงของฉันไว้ด้วยความที่เชื่อว่า...ชีวิตคนไม่ควรเป็นสาธารณะ และนั่นคือหนทางที่ฉันจะได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย (บ้านๆ) อย่างมีความสุขต่อไป โดยไม่ต้องขอความคิดเห็นหรือคำตัดสินจากใครใรทุกการกระทำ...
            แม้สังคมจะสำคัญ แต่การมีสังคมก็ไม่ใช่สิ่งที่รับประกันความสำคัญและคุณค่าของคน...เสมอไป  

เจนนิเฟอร์ คิ้ม

คอลัมเล่นหู เล่นตา จากหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ฉบับประจำวันจันทร์ ที่ 21.05.55 ตอนที่ 343: แมนนวล


 “ลูกค้าระดับ...การ์ด เชิญด้านในค่ะ”
            ฉันกับสีเกด เดินเข้าไปด้านในตามที่พนักงานคนนั้นบอก...แอร์เย็นฉ่ำ พอทิ้งก้นลงบนโซฟาหนังนุ่ม ๆ พนักงานอีกคนก็มาคุกเข่าอยู่ข้าง ๆ เอาใบฝากใบถอนที่เตรียมไว้ไปทำธุรกรรมทางการเงินแทนเราก่อนไปเธอถามว่า “รับเครื่องดื่มอะไรดีคะ” ฉันหันไปมองลูกค้าคนอื่นเขาสั่งชา กาแฟ โกโก้เย็นดื่ม ในขณะที่นั่งรอบางคนหยิบมือถือ 3G กับไอแพดขึ้นมาทำอะไรฆ่าเวลาโดยไม่มีเวลาหันมามองคนรอบข้าง ได้แต่นึกในใจว่า “ไฮโซ...”
            ไม่นานนักพนักงานคนเดิมก็นำสมุดบัญชีมาคืนให้เสร็จธุระฉันเดินออกไปกับสีเกดผ่านหน้าลูกค้าที่นั่งรออีกมากมาย...พวกเขายังต้องนั่งรอต่อไปตามคิว...
            “เราไปนั่งรอในห้องรับรองผู้โดยสารกันเถอะ” สีเกดบอกกับฉันที่สนามบิน
            “เข้าไปนั่งได้เหรอ?”
            “ได้สิ...คราวนี้ลูกค้าเขาจองชั้นธุรกิจให้”
            ข้างในนั้นมีโซฟาให้นั่ง มีของว่าง ทั้งคุ้กกี้ แซนด์วิช ผลไม้และเครื่องดื่มอีกหลากหลาย มีไว้บริการลูกค้าที่จ่ายมากกว่าชั้นธรรมดาที่ต้องออกไปนั่งออรอกันที่ประตูทางออกขึ้นเครื่องปะปนอยู่กับผู้โดยสารคนอื่น ๆ แต่คราวนี้ไม่...ได้แต่นึกในใจว่า “ไฮโซ...” ในความหมายของฉันคงจะเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของความหมายที่แท้จริงของคำคำนี้ เพราะจนป่านนี้ฉันก็ยังไม่เข้าใจความหมายของมันจริง ๆ หรอก รู้แค่ว่าอาจจะแปลว่า มั่งคั่ง....เอาแต่ใจ... เหนือกว่าธรรมดาทั่วไป หรือเป็นส่วนตัว ไม่ต้องปะปนกับคนอื่น แอบคิดว่าบางทีมันก็ได้ดั่งใจและอัตโนมัติเกินไปจนรู้สึกห่างเหินกับความเป็นธรรมดาและถูกแยกออกจากคนธรรมดา ไม่รู้สิ! บางทีฉันอาจจะคิดผิดก็ได้นะ ในความไฮโซของฉันชอบแค่ความสบายและรวดเร็ว ที่เหลือมันไกลเกินไปกว่าตัวตนของฉันที่ออกจะบ้าน ๆ เจ๊ก ๆ อยู่มาก หากเปรียบกันแล้ว ถ้า “มั่งคั่ง” เทียบกับ “อัตโนมัติ” (Auto-matic) “ธรรมดา” ก็น่าจะเทียบกับ “แมนนวล” (Mannual) ถึงมันจะดูชักช้าไม่ได้ดั่งใจ แต่มันก็เข้าใจได้ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน...ที่สำคัญมันจริงใจและสัมผัสได้
            “ตุ้บ!” ฉันโยนกล่องโฟมใบโตที่อุ้มเอาไว้นานจนปวดเอวลงบนพื้น หันไปมองรอบ ๆ มีคนกำลังง่วนอยู่กับบางอย่าง บ้างก็มารับ บ้างก็มาส่ง ใกล้ ๆ เท้าฉันจึงเต็มไปด้วยกล่องพัสดุต่าง ๆ ม้วนผ้า สายไฟ เลยไปถึงสปอยเลอร์หน้าของรถก็ยังเอามาส่งกัน อือ...เขามากันถูกที่แล้วล่ะ ที่นี่มันเป็นบริษัททัวร์เล็ก ๆ ที่รับ-ส่งของทั่วไป ไม่รับประกันความเสียหายระหว่างทาง ค่าส่งก็แสนถูก ร้านค้าและผู้คนจึงส่งของผ่านบริษัทนี้ คนที่มาทำธุระส่วนใหญ่เป็นพนักงาน ลูกจ้างระดับล่าง ๆ และแมสเซนเจอร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายหน้าบาน ๆ ตัวดำ ๆ ไม่แน่ใจว่าผิวคล้ำอยู่แล้วหรือขี่แมงกาไซค์ตากแดด มีฉันเป็นอีเจ๊แก่ ๆ ยืนโง่ ๆ อยู่ท่ามกลางผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย คงจะดูไม่เข้าพวกหรือเก้กังอยู่นาน คนที่มาส่งของคนหนึ่งสวมเสื้อแจ็กเก็ตประจำบริษัทมองมาที่ฉันแล้วเดินเข้ามาพูดว่า
            “จะส่งของเหรอ กดบัตรคิวรึยัง ต้องกรอกใบส่งก่อน อยู่ที่โต๊ะนั่น”
            ฉันเดินไปที่โต๊ะใกล้ ๆ กันมีเครื่องกดบัตรคิวง่อย ๆ อยู่เครื่องหนึ่ง ฉันกดเบา ๆ กระดาษคิวก็ไม่ออก ผู้ชายคนเดิมเลยต้องกดให้แรง ๆ หลายครั้ง ฉันทำตามที่เขาบอกแล้วไปยืนมั่ว ๆ กับกลุ่มคนที่มาส่งของ (ไม่เห็นมีใครยืนต่อแถวหรือเข้าคิวนี่นา) สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างของคนเหล่านี้คือยืนรอเฉยๆ ...ไม่มีใครหยิบเอามือถือขึ้นมากดนั่น ส่งนี่ หรือเล่นเกม ไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่ฉันคุ้นตา ไม่ว่าจะไอโฟน หรือไอแพด ที่พอจะเห็นบางคนคุยโทรศัพท์อยู่ก็รุ่นที่ซื้อกันไม่กี่พันบาท “หมายเลข 820 เชิญที่ช่อง 3” นั่นแหละถึงตาฉัน พนักงานรับเอาของไปชั่งแล้วส่งไปตามช่องที่มีลูกกลิ้งกลม ๆ เลื่อนของไปโดยใช้มือผลัก แอบผิดหวังเล็กน้อย กะว่าจะได้เห็นสายพานเลื่อนไปเหมือนที่เคยเห็นทั่วไป พนักงานหันมากรอกรายละเอียดต่าง ๆ ลงไป  เขาเงยหน้าขึ้นมามองฉันแล้วบอกให้รอจ่ายตังค์ ฉันก็ยืนมึนต่อ เพราะไม่มีช่องไหนเขียนว่าต่ายตังค์ มีเพียงโต๊ะติดกันที่พนักงาน 2 คน กำลังง่วนเขียนอะไรอยู่แล้วคนก็ไปมุง ๆ ราวกับรอลุ้นหวย... “อ้าวแล้วกูจะทำไงต่อเนี่ย?” สักเดี๋ยวผู้ชายแปลกหน้าที่มาทำธุระแบบเดียวกันหน้าโหด ๆ เดินตรงเข้ามาหาฉัน “ซวยละกู...ใครฟะ...จะเอาอะไรกะกูเนี่ย” ฉันกอดกระเป๋าไว้แน่นขณะที่เขาก้าวเข้ามา
            “รอจ่ายเงินช่องนี้” เขาชี้ไปที่โต๊ะที่มีคนมุงเยอะ ๆ นั่น (ฉันรู้สึกผิดที่อคติแบบนั้น) ยืนรอนานจนเหงื่อซึม เพราะมันเป็นห้องเปิดโล่งติดกับถนน ทุกคนยืนอยู่บนฟุตบาทแล้วทำธุรกรรมกันไป ในที่สุดเขาก็เรียกเพื่อไปจ่ายเงิน ฉันส่งเงินให้... “ใช่ เจนนิเฟอร์ คิ้มรึเปล่า” พนักงานที่รับเงินถามขึ้น ฉันพยักหน้าแล้วนางก็หันไปคอนเฟิร์มกับเพื่อน ๆ ว่า “เห็นมั้ย? ฉันบอกว่าใช่ตั้งแต่แรกแล้ว” พนักงานพวกนั้นคงงงว่า “อีนี่มาทำอะไรที่นี่? ทำไมไม่ให้คนอื่นมาทำแทน” ฉันปล่อยให้พวกเขาคิดไปตามใจ ส่วนฉันเดินยิ้มกลับไปที่รถ ซึ่งจอดไว้ไม่ไกล...ฉันได้บางอย่างกลับมาเหล่าบรรดาลูกจ้างที่รับหน้าที่มารับมาส่งของ ยืนกระจัดกระจายหาความเป็นระเบียบไม่ได้ แถมยังต้องรอขั้นตอนการรับส่งที่ใช้เพียงคน “ขน” (ของ) และคน “เขียน” (บิล) ไม่มีอะไรเป็นเครื่องช่วยระบบคอมพิวเตอร์ ออโต-เมติก ดิจิตอล ไม่ต้องหา มีเพียงเครื่องกดบัตรคิวที่ดูจะเป็นหน้าเป็นตาเครื่องนั้นกับเสียงประกาศหมายเลขคิว นอกนั้น บ๊าน...บ้าน แมนนวลสุด ๆ แถมยังต้องรอนานกว่าจะเสร็จไปแต่ละรายการ นั่นคือระบบการทำงานแบบแมนนวล ซึ่งซ่อนบางอย่างที่น่าประทับใจไว้ในนั้น คนที่มาทำธุรกรรมเหล่านั้นล้วนอยู่ในระดับเดียวกัน...ใช้แรงงาน ไม่มีการแบ่งระดับชั้นวรรณะใด ๆ บางคนขนของหนัก ๆ พวกที่ยืนรออยู่ก็มาช่วย แม้แต่ฉันคนแปลกหน้าที่ไม่เข้าพวกเขาก็ยังมีน้ำใจมาช่วยบอก  ฉันเห็นความมีน้ำใจผ่านการปฏิสัมพันธ์โดยไม่ห่วงภาพลักษณ์ใด ๆ ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมองว่าดีหรือร้าย ไม่มีใครคิดว่า “ไม่ใช่เรื่อง!”  หรือเพราะพวกเขาไม่ใช่คนรวย ไม่ใช่คนเมือง เป็นเพียงแค่คนต่างถิ่นที่มาหากินในกรุงเทพฯ ความโอบอ้อมอารีย์มีน้ำใจฝังที่รากลึกตั้งแต่เกิดมันยังคงอยู่และพร้อมใช้ในทุกสถานการณ์
            ฉันยังคงเชื่อว่าสิ่งดีงามในความเป็นคนนั้นมันอยู่ในตัวของคนทุกคน แต่บางทีพลังแห่งการต่อสู้ดิ้นรน ความอยากมี อยากดี อยากเด่นเกินใคร ๆ มันทับถมและบดบังความดี ความศรัทธาที่มีต้อมนุษย์ด้วยกัน ไม่ให้มันถูกมาใช้ ให้ความสำคัญเฉพาะตัวเอง โดยไม่สนคนอื่น ผู้คนจึงไม่ใส่ใจกันและกันจนกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ ต่างถูกแบ่งแยกด้วยตัวเลขในบัญชี เงินฝาก แหล่งที่อยู่อาศัย รวมถึงระดับสังคมในระดับต่าง ๆ มันน่าเสียดายสำหรับใครที่เป็นเช่นนั้น เพราะคนเหล่านั้นหมดโอกาสที่จะได้สัมผัสกับความจริงใจของผู้คนธรรมดา ๆ ด้วยการสัมผัสด้วยใจอย่างตรงไปตรงมา และนั่นคือเหตุผลที่ว่า ในที่ที่คนอย่างฉันไม่ควรอยู่หรือไป แล้ว “อีนี่มาทำอะไรที่นี่ ?” ...บางทีชีวิตแบบแมนนวลมันจริงกว่าแอบอัตโนมัติตรงที่
            เมื่อคนรวยใช้เงินคุยกัน
            คนจนกลับใช้ใจคุยกัน...
            เมื่อคนรวยอยู่ในโลกสมมุติ แต่คนจนอยู่ในโลกแห่งความจริง
            และแม้แต่ความตายที่ยุติธรรมที่สุด
            เมื่อคนจนตายเรียกว่า...หมดเวรหมดกรรม
            แต่คนรวยตายกลับเรียกว่า...สิ้นบุญ!

เจนนิเฟอร์ คิ้ม